เกี่ยวกับพระสอน
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ดังนั้น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้วิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นและบริบทที่เกี่ยวข้องทุกด้าน แล้วจึงได้มีแนวคิดว่าจะขยายพระสอนฯให้เข้าไปสอนโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คือ ๑ ตำบล ต่อ ๑พระสอนฯ โดยจะขยายเพิ่มขึ้นอีก ๔,๐๐๐ รูปเป็นการนำร่อง จากนั้นได้เสนอของบประมาณกลางจากรัฐบาล เพื่ออุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายของพระสอน ฯ จำนวน ๔,๐๐๐ รูป รูปละ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน และเป็นค่าดำเนินการจัดทำหนังสือ อุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอน การติดตามประเมินผลโครงการ เพื่อให้สาธารณชนทั่วประเทศเห็นความสำคัญของพระสงฆ์ โดยมุ่งเน้นประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ผู้เรียนได้แก่ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนพระสอนฯให้มากขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ รูป เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ตามเป้าหมาย
ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน โดยหวังจะสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ จากหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยพระสอนศีลธรรม เพื่อพัฒนาคุณธรรม ศีลธรรมแก่นักเรียนในสถานศึกษา ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษา
ปี ๒๕๕๑ เมื่อจำนวนพระสอนศีลธรรมมีมากถึง ๒๐,๐๐๐ รูป คณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้โอนย้ายภาระงานและงบประมาณโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนไปตั้งไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับมาดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกิจด้าน “การบริการวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคมและชุมชน”
ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มอบให้ส่วนธรรมนิเทศ สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม รับผิดชอบโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ภายใต้การกำกับ ควบคุม ติดตามประเมินผลของคณะกรรมการบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๒ ชุด ประกอบด้วย ๑) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๒) คณะกรรมการดำเนินงานโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน
ปี ๒๕๖๒ – ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและส่วนงานของมหาวิทยาลัย จึงประกาศตั้ง “สำนักงานพระสอนศีลธรรม” สังกัดสำนักงานอธิการบดีขึ้น ให้รับผิดชอบโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน โดยตรง
โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนนี้เป็นโครงการที่ภาครัฐเห็นความสำคัญให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้านการเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ให้เป็นคน “เก่ง ดี มีคุณภาพ” เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์แห่งการพัฒนาคนในชาติให้มีคุณธรรมที่พึงประสงค์ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ๔ ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาด้านการเผยแผ่ และการศึกษาสงเคราะห์อีกด้วย จึงเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม
พันธกิจ
พันธกิจ ข้อที่ ๑
ปลูกฝังศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และมารยาทชาวพุทธ
พันธกิจ ข้อที่ ๒
สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนศีลธรรมในสถานศึกษา
พันธกิจ ข้อที่ ๓
ยกระดับสมรรถนะพระสอนศีลธรรม
พลังขับเคลื่อนศีลธรรมในสถานศึกษา
ด้วยพุทธนวัตกรรม